รายละเอียด :
“นอกจากน้ำพริกจะเป็นกับข้าวพื้นฐานของไทยแล้ว น้ำพริกก็ยังเป็นศูนย์กลางของสำรับซึ่งมีกับข้าวหลายอย่าง…น้ำพริกจะต้องตั้งอยู่ตรงกลางและกับข้าวอื่นๆ ที่จะมาแวดล้อมประกอบเป็นสำรับนั้นในการทำจะต้องคำนึงถึงน้ำพริกก่อนว่าเป็นน้ำพริกอะไร…”
“น้ำพริกนั้น นอกจากจะเป็นกับข้าวของไทยแล้ว ยังเป็นวัฒนธรรมไทยอย่างหนึ่ง คนไทย ต้องรู้จักน้ำพริก ต้องรับประทานน้ำพริกให้เป็น หมายความว่าจะต้องรู้วิธีว่า จะเอาอะไรจิ้มกับน้ำพริก แนมด้วยปลาย่างหรือปลาทอด…เหล่านี้
เป็นวัฒนธรรมไทยซึ่งมีมาแต่โบร่ำโบราณทั้งสิ้น” (ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช)
เชื่อว่า พวกเราคนไทยคงไม่มีใครไม่รู้จัก ม. ร. ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช กันนะคะท่านเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงแทบจะทุกด้านในสังคมบ้านเรา ไม่ว่าจะในฐานะนักการเมือง นักแสดง นักเขียน หรือสื่อมวลชน ท่านก็โดดเด่นมาแล้วทั้งนั้น
และสำหรับเรื่องสำรับกับข้าว ท่านก็ยังเป็นผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นเอกในวงการอีกด้วยนะคะใครที่เกิดทันอ่านสยามรัฐสมัยก่อนคงได้เห็นคอลัมน์ซอยสวนพลูที่ท่านเขียนเรื่องอาหารให้อ่านกันนะคะ สนุกราวกับว่าไม่ใช่คอลัมน์ทำกับข้าวเลยเชียวค่ะ
น้ำพริก เป็นอาหารที่เราคุ้นเคยกันดีมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว มีหลากหลายจนแม่อบเชยเหนื่อยแทบขาดใจเวลาอธิบายเรื่องน้ำพริกให้ฝรั่งฟัง อย่าว่าแต่ฝรั่งมังค่าเลยค่ะเพราะขนาดเพื่อนคนไทยกันเองในปัจจุบันนี้ก็ยังรู้จักอยู่เพียงไม่กี่ชนิด
เท่านั้นเอง และที่สำคัญก็ยิ่งรู้กันน้อยลงไปว่า น้ำพริกแต่ละอย่างน่ะ มีที่มาหรือที่ไปอย่างไร มีอะไรเป็นส่วนประกอบ และรับประทานกันอย่างไร ควรจะเป็นผักชนิดไหนและทำไมจึงเป็นเช่นนั้น เชื่อเถอะค่ะว่า หาคำตอบกันยากกว่าเล่นเกมเศรษฐี
อย่างไม่ต้องสงสัยเพราะน้ำพริกบ้านเรานั้น มีหลายชนิดจนบางคนบอกว่ากินไม่ซ้ำรายการตลอดชีวิตยังไม่หมดเลยค่ะ ดูเหมือนประโยคนี้จะกล่าวเกินจริงไปสักหน่อย แต่ลองฟังนิทานเรื่องนี้สิคะ แล้วจะเชื่อว่า ประโยคข้างต้นไม่เกินจริงค่ะ
พระราชาพระองค์หนึ่ง เกิดจะเลียนแบบพระเจ้ากาหลิบแห่งนิทานพันหนึ่งราตรีของอาหรับขึ้นมาเลย ประกาศว่า แต่ละคืนให้หาสนมมาเข้าเฝ้าหนึ่งนางและรุ่งขึ้นให้ประหารเสีย แต่มีสนมนางหนึ่งที่แสนจะฉลาดเหลือหลาย รู้ว่าผู้ชาย
นั้นความรักเดินทางผ่านปากสู่กระเพาะเลยเล่าเรื่องการทำน้ำพริกถวายในคืนแรก และด้วยลีลาของนักเล่านิทานชั้นเยี่ยมทำให้พระราชาเกิดอยากจะเสวยน้ำพริกชนิดนั้นขึ้นมา เลยปล่อยให้สนมนางมีชีวิตต่ออีกหนึ่งวันเพื่อทำน้ำพริกถวาย และคืนต่อมาก็เป็นเช่นนี้ทุกคืนๆ สนมนางนั้นก็มีชีวิตรอดเรื่อยมา ในนิทานเล่าว่า สนมนางนั้นไปแก่ตายเอาตอนเล่าถึงน้ำพริกเครื่องหลน นั่นหมายความว่าขนาดเล่าเรื่องน้ำพริกตั้งแต่สาวจนแก่ตาย รายการน้ำพริกก็ยังไม่หมดสต็อกเลยด้วยซ้ำ
"แซบอีหลีเด้อค่า…"
เมื่อไม่นานมานี้ก่อนละครหลังข่าวเรื่องพันท้ายนรสิงห์จะออกอากาศนั้น เพื่อนของแม่อบเชยซึ่งเป็นครูประถมในโครงการนำร่องประเภทเรียนโดยไม่ต้องท่องมาเล่าเรื่องชวนอมยิ้มให้ฟังค่ะ เธอถามนักเรียนว่า “นักเรียนคะ มีใครรู้จัก
พันท้ายนรสิงห์ ไหมคะ” เด็กตัวเท่าเมี่ยงคนหนึ่งยกมือขึ้นขอตอบด้วยความมั่นใจเต็มร้อยว่า “รู้จักครับ บ้านผมก็มี“ ครูถึงกับอึ้งกิมกี่และต้องขอให้นักเรียนอรรถาธิบายว่าเพราะอะไร “พันท้ายนรสิงห์ วีรบุรุษแห่งความซื่อตรง” จึงได้ไปอยู่ที่บ้านนักเรียนได้ นักเรียนจึงได้ไขข้อข้องใจให้ครูว่า “ มีจริงๆ นะครับ ตอนเช้าๆ คุณยาย ยังเอาทาขนมปังรับประทานเลย แต่ผมไม่ค่อยชอบครับ กลิ่นแปลก ๆ” กว่าครูจะถึง บางอ้อ ว่านักเรียนหมายถึงน้ำพริกเผาตราพันท้ายนรสิงห์ก็หลงอยู่บางระเง็งตั้งนานสองนาน แต่ความจริง จากเรื่องที่เพื่อนแม่อบเชยเล่ามานี้ก็พอจะบอกได้เหมือนกันนะคะว่า เด็กรุ่นเรียนแบบไม่ท่อง สอนจากสิ่งแวดล้อมนั่นน่ะ รู้จักน้ำพริกซึ่งยังพอมีในสิ่งแวดล้อมมากกว่าวีรบุรุษในประวัติศาสตร์เสียอีกค่ะ ไม่รู้ว่าจะน่าดีใจหรือเปล่านะคะ
วันนี้แม่อบเชยขอจบเรื่องน้ำพริกลงตรงนี้ก่อนนะคะ เพราะว่าถ้าให้เล่าให้ครบทุกเรื่องก็คงเขียนจบตอนแก่หง่อมเป็นสนมนางนั้นไปด้วยเหมือนกันแหละค่ะวันหลังเราค่อยมาว่ากันด้วย น้ำพริกกันใหม่นะคะ ทั้งถ้วยเก่า ถ้วยใหม่ ถ้วยไหนๆ
เราก็จะไม่เว้นกันล่ะค่ะ
อ่านเพิ่มเติม คลิกที่นี่
ที่มา: http://www.thaifooddb.com/article/article038.html
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น